25670331pm--ของดี ต้องพอดี จึงจะดีจริง

Release Date:

31 มี.ค. 67 - ของดี ต้องพอดี จึงจะดีจริง : พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ฉันใดก็ฉันนั้น ความเพียร ถ้าเพียรน้อยไปก็เกียจคร้าน แต่ถ้าเพียร (คือขยัน) มากไปก็ฟุ้งซ่าน” ฟุ้งซ่านก็รวมไปถึงความเครียดด้วย ต้องเพียรแต่พอดี พอพระพุทธเจ้าแนะนำเช่นนี้ พระโสณะก็เริ่มปรับ ปรับท่าทีเสียใหม่ ปรับใจเสียใหม่ ความเพียรก็กลับมาสู่ความพอดี

ใจก็ไม่ได้คิดแต่จะทำด้วยอาการคร่ำเคร่ง คิดจะเอา จะเอาให้ได้ ใจก็ผ่อนคลาย แต่ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยหรือลืมตัว พอความเพียรปรับให้พอดี ปรากฏว่าการปฏิบัติธรรมของพระโสณะก็เห็นผลทันที ในที่สุดก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นตัวอย่างว่าความเพียรแม้จะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเกินความพอดีไปก็จะไม่ดี
 


พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนเรื่องความเพียรแต่พอดี ท่านใช้คำว่า วิริยสมตา ความเพียรแต่พอดี อันนี้ไม่เกี่ยวกับทางสายกลาง ทางสายกลางเป็นอันหนึ่ง แต่ความพอดีหมายถึงว่าเป็นเรื่องของปริมาณ ไม่น้อยแล้วก็ไม่มาก เช่น ความสบายไม่มากเกินไป แล้วก็ไม่น้อยเกินไป มีเงินมีทรัพย์ก็ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป
 


สิ่งที่ดี ๆ หรือคุณธรรม เช่น ความเพียร ก็เหมือนกัน เราต้องรู้จักความพอดี เมื่อทำความพอดีให้เกิดขึ้นก็จะเกิดผลดี ของดีถ้าเกินความพอดีไปก็กลายเป็นไม่ดี
 


อันนี้ต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปที่มองว่า อะไรที่ดี ยิ่งมากยิ่งดี แต่ว่าในโลกของความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพอนามัย หรือเรื่องของธรรมะ สุขภาพจิต หรือเรื่องของการปฏิบัติธรรม มีความพอดีของมัน ช่วงแรก ๆ มีมากก็ดี แต่พอถึงจุดหนึ่ง ยิ่งมากยิ่งไม่ดีแล้ว ฉะนั้น ต้องรู้จักหาความพอดี


ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติธรรม เราต้องรู้จักความพอดี ถ้าเราหาความพอดีไม่เจอ อาจจะทำให้ ถ้าไม่หย่อน ไม่น้อยเกินไป ก็มากเกินไป ซึ่งไม่ดีทั้งนั้น แม้ว่าจะรู้ว่าทางสายกลางคืออะไร แต่ถ้าหากว่ายังไม่รู้จักความพอดีก็พาหลงทิศหลงทางหรือว่าเข้ารกเข้าพงได้ 

25670331pm--ของดี ต้องพอดี จึงจะดีจริง

Title
25670331pm--ของดี ต้องพอดี จึงจะดีจริง
Copyright
Release Date

flashback