ธรรมละนิด : นั่งสมาธิให้ถูกต้อง

Release Date:

นั่งสมาธิให้ถูกต้องควรทำอย่างไรนั่งนานและบ่อยแค่ไหน?

การนั่งที่ถูกต้อง เริ่มต้นต้องสัมมาทิฏฐิ ‘สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ’ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ‘เราไม่ได้นั่งเพื่อจะเอาอะไร เพื่อจะได้อะไร เพื่อจะเป็นอะไร’ นั่งเพื่อปล่อยวางเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องการจะนั่งก็ควรจะหาที่ที่สงบเท่าที่จะสงบได้ ถ้าอยู่ในบ้านมุมใดมุมหนึ่งที่เงียบหน่อย แล้วก็ใช้มุมนั้นหรือถ้ามีบุญเป็นห้องพระก็ยิ่งดี แต่ถ้าไม่มีก็มุมใดมุมหนึ่งที่ใช้เพื่อการนั่งสมาธิหรือการทำวัตรสวดมนต์โดยเฉพาะ ไม่ใช่เรื่องอื่น แล้วพอมานั่งตรงนั้นมันจะเป็นจิตวิทยาจะรู้สึกว่า เออ...นี่ก็คือที่นั่งของเรา

ก่อนจะนั่ง ถ้าทำวัตรสวดมนต์ เล็กๆ น้อยๆ เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ จากอารมณ์เมื่อกี้นี้ อารมณ์ทางโลก ถ้านั่งหลับตาทันทีมันก็ยังมีความคิดที่ยังค้างอยู่ในสมอง ก็เปลี่ยน กราบไหว้พระศรีรัตนตรัยก่อน

นั่งการนั่งนี้ เรื่องจะวางแขนวางขานี่ไม่สำคัญมาก จะนั่งเก้าอี้ก็ได้ แต่ต้องรู้สึกเป็นตัวของตัว ไม่พิงสิ่งใด สำคัญที่กระดูกสันหลังให้ตรง ตรงแต่ไม่เกร็ง รู้สึกมันมีอะไรมาดึงศีรษะขึ้นไปถึงเพดาน นั่งตัวตรง ถ้าง่วงไม่ต้องหลับตาก็ได้ ถ้าไม่ง่วงหลับตาจะดีกว่า

การนั่งสมาธิคือการเจริญสตินั่นเอง ซึ่งต้องมีเครื่องระลึกของสติ เช่น ลมหายใจ และสิ่งท้าทายก็คือทำอย่างไรเราจึงจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจิต คือ ‘ตัวรู้’ กับ ‘สิ่งรู้’ หรือเครื่องระลึกของสติ เช่น ลมหายใจ ในลักษณะที่พอใจกับลมหายใจ ไม่อยากไปคิดเรื่องอื่น พอใจ มีความสุขกับงาน

ในเบื้องต้นต้องป้องกันไม่ให้กิเลสเข้ามาแทรกแซง แล้วเมื่อจิตเผลอไปซึ่งต้องมีแน่นอน ก็ต้องมีการฝึก การศึกษา ในการปล่อยวางกิเลสที่เข้ามาครอบงำ ในขณะเดียวกันเราก็มุ่งที่สติ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว และอาตาปี ความเพียรที่มีความพอดีระหว่างความตั้งใจและความผ่อนคลาย ความพอดีจะรู้ได้ว่ามันเป็นความเพียรที่พอดีกับการปล่อยวางกิเลส เรายังจะต้องใช้ความอดทน ความสันโดษ ความเมตตา คุณธรรมข้ออื่นๆ และเมื่อจิตเริ่มสงบแล้ว เราก็ต้องพยายามรักษาคุณธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในจิต เช่น สติ เป็นต้น ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

สรุปแล้วว่า ในเบื้องต้นเราก็ถือว่า ‘การนั่งสมาธิคือการเจริญสติ โดยมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องระลึกของสติ’ สิ่งที่สำคัญในเบื้องต้นคือการฝึกป้องกันไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิต สอง ถ้ากิเลสครอบงำจิตจนได้ ต้องฝึกในการปล่อยวาง สาม ต้องปลูกฝังคุณงามความดีที่จะนำไปสู่ความสงบและปัญญา และสี่ เมื่อคุณธรรมต่างๆ เริ่มปรากฏ เราต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อจะรักษามันไว้และทำให้มันเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป นี่คือการทำสมาธิในเบื้องต้น ไม่ต้องหักโหมมาก เริ่มต้น ห้านาที สิบนาที ค่อยๆ เพิ่ม ถ้าบังคับมากจะไม่มีความสุข ถ้าไม่บังคับเสียเลยนี่ก็คงไม่เจริญ คงต้องหาความพอดี

พระอาจารย์ชยสาโร

ธรรมละนิด : นั่งสมาธิให้ถูกต้อง

Title
ธรรมละนิด : นั่งสมาธิให้ถูกต้อง
Copyright
Release Date

flashback